ผ้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๔๕๓)การใช้ผ้าเป็นเครื่องแต่งกายนั้น เดิมครั้งกรุงศรีอยุธยาคงมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่มีระเบียบเคร่งครัดว่า คนชั้นไหนใช้ผ้าชนิดใดได้บ้าง หรือชนิดไหนใช้ไม่ได้ ต่อมาระเบียบนี้ละเว้นไปไม่เคร่งครัด จึงปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ออกพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการแต่งกายการใช้ผ้า บังคับและห้ามไว้ใหม่ อีกครั้งหนึ่ง ดังความปรากฏว่า "...ธรรมเนียม แต่ก่อนสืบมา จะนุ่งผ้าสมปักท้องนาก และใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองต้นแขน กรองปลายแขน จะคาดรัดประคดหนามขนุนได้แต่ มหาดไทย กลาโหมจตุสดมภ์ และแต่งบุตรแลหลานขุนนาง ผู้ใหญ่ ผู้น้อยได้แต่เสมา แลจี้ภควจั่นจำหลักประดับพลอย แต่เพียงนี้ และทุกวันนี้ข้าราชการผู้น้อยนุ่งห่ม มิได้ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ผู้น้อยก็นุ่งสมปักปูมท้องนาก ใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองสังเวียน กรองสมรด คาดรัดประคดหนามขนุน กั้นร่มผ้า สีผึ้งกลตาไปจนตำรวจเลว แลลูกค้าวณิชกั้นร่ม สีผึ้ง แล้วแต่งบุตรหลานเล่า ผูกลูกประหล่ำ จำหลัก ประดับพลอยแลจี้กุดั่นประดับพลอย เพชรถมยา ราชาวดี ใส่เกี้ยวมีกระจังประจำยามสี่ทิศ ผูกภควจั่นถมยาประดับเพชรประดับพลอย สายเข็มขัดมี ดอกประจำยาม เข้าอย่างต้องห้าม เกินบรรดาศักดิ์ ผิดอยู่ แต่นี้สืบไป เมื่อหน้าให้ข้าราชการแลราษฎร ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน" 

"ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้แต่ขุนนางผู้ใหญ่ กั้นร่มผ้าสีผึ้ง คาดรัดประคดหนามขนุน ห้ามอย่าให้ข้าราชการผู้น้อยใส่เสื้อครุย กรองคอ กรอง สังเวียน กรองสมรด คาดรัดประคดหนามขนุน นุ่งสมปักท้องนาก สายเข็ดขัดอย่าให้มีดอกประจำยาม กั้นร่มผ้าสีผึ้ง ใส่เสื้อครุย ได้แก่ กรองปลายมือ จะแต่งบุตรแลหลาน ก็ให้ใส่แต่จี้เสมาภควจั่นจำหลักประดับพลอยแดงเขียวแต่เท่านี้ อย่าได้ประดับ เพชรถมยาราชาวดี ลูกประหล่ำเล่า ก็ให้ใส่แต่ลายแทงแลเกลี้ยงเกี้ยว อย่าให้มีกระจังประจำยาม สี่ทิศ และอย่าให้ใส่กระจับปิ้งพริกเทศทองคำ กำไลทองคำใส่เท้า อย่าให้ข้าราชการผู้น้อย และราษฎรกั้นร่มผ้าสีผึ้ง และกระทำให้ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมเกินบรรดาศักดิ์เป็นอันขาดทีเดียว และห้ามอย่าให้ช่างทองทั้งปวงรับจ้างทำจี้เสมาภควจั่น ประดับเพชร ถมยาราชวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นขาดทีเดียว..."ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า การใช้ผ้าก็ดี เครื่อง ประดับก็ดี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการใช้ตามฐานะรวมถึงบรรดาศักดิ์ ตามตำแหน่งหน้าที่การงาน และตามสกุล ผ้าในสมัยนี้คงใช้สืบต่อแบบเดียวกับที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงจะเพิ่มขึ้นใหม่อีกด้วย สมัยรัตนโกสินทร์มีผ้าต่างๆ เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ ส่วนหนึ่งเป็นผ้าทอในประเทศ อีกส่วนหนึ่งเป็นผ้าสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ผ้าไทย ได้แก่ ผ้ายก ผ้าไหม ผ้าสมปัก ผ้ายกทองระกำไหม สมัยรัชกาลที่ ๒ มีผ้าลาย ซึ่งเจ้านาย และคนสามัญนิยมใช้ จะต่างกันตรงที่ลวดลายว่า เป็นลายอย่าง หรือผ้าลายนอกอย่าง (ผ้า ซึ่งคนไทยเขียนลวดลายเป็นแบบอย่าง ส่งไปพิมพ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย) ถ้าเป็นของเจ้านายชั้นสูง ผ้าลายมักจะเขียนลายด้วยสีทอง เรียกว่า ผ้าลายเขียนทอง ซึ่งใช้ได้เฉพาะระดับพระเจ้าแผ่นดินถึงพระองค์เจ้าเท่านั้น ผ้าชนิดนี้ นิยมใช้เช่นเดียวกับผ้ายก

ผ้าที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพวกเจ้านายคือ ผ้าใยบัว ผ้ากรองทอง และผ้าโขมพัสตร์ พวกชาวบ้านทั่วไป มักจะใช้ผ้าตาบัวปอก ผ้าดอก ส้มดอกเทียน ผ้าเล็ดงา ผ้าตามะกล่ำ ผ้าตาสมุก ผ้าไหมมีหลาชนิด เช่น ผ้าไหมตาตาราง ผ้าไหมตะเภา การเพิ่มความงามให้แก่เสื้อผ้าที่ใช้ นอกจากปักไหมเป็นลวดลายต่างๆ แล้ว ก็มีการปักด้วยทองเทศ ปักด้วยปีกแมลงทับ ซึ่งใช้ปักทั้งบนผ้าทรงสะพัก ผ้าสมรด หรือผ้าคาดเอว และเชิงสนับเพลาของเจ้านายผู้ชาย 
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ผ้าไทยสมัยรัตนโกสินทร์


ผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่ ไม่ได้ทำในไทย แต่ให้ตัวอย่างสั่งทำมาแต่เมืองจีน ใช้ในไทยเท่านั้น จีนไม่ใช้นุ่งเลย ใช้เป็นผ้าสำหรับเจ้านาย และข้าราชการนุ่งห่มเป็นยศแทนสมปักอย่างเดิม เวลาเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่ง เวลาออกแขกเมืองใหญ่ หรือมีการใหญ่ พระราชทานพระกฐิน เวลาแต่งเต็มยศ อย่างใหญ่ก็ให้พระบรมราชวงศานุวงศ์แต่ง 

ผ้าม่วงที่สั่งจากประเทศจีนเข้ามาใช้นั้น เป็นชื่อเมืองที่ผลิต มิได้หมายถึงสีของผ้าแต่อย่างใด เพราะนอกจากสีน้ำเงินแล้ว ยังมีสีเหลือง สีแดง อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ผ้าสมปักก็มิได้เลิกไปเสียทีเดียว ยังมีใช้อยู่ต่อมาบ้าง ส่วนผ้ายก ผ้าเยียรบับ และผ้าเข้มขาบ คงใช้ตัดเสื้ออยู่ต่อมา แต่แบบของเสื้อก็โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงไปตามแบบยุโรปยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีผ้าต่างประเทศที่ใช้ในครั้งนั้นอยู่อีกบ้าง เช่น ผ้ามัสหรู่ ผ้าปัศตู ผ้ากุหร่า ซึ่งมักจะนำไปใช้ตัดเป็นเสื้อและกางเกงให้ทหารกองต่างๆ อย่างไรก็ดี การใช้ผ้านี้ในบางโอกาส ก็มีกฎเกณฑ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งบางอย่างเป็นประเพณีมาแต่เดิม และบางอย่างก็เป็นความเชื่อถือว่า ดี เป็นมงคล เป็นต้นว่า เวลาไปฟังเทศน์ พระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายมักทรงชุดขาวเวลาออกศึก จะฉลองพระองค์ตามสีวันอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่สำหรับผู้หญิงที่มิได้ไปศึกสงคราม ก็มีการนุ่งห่มใช้สีสันไปอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างหญิง สาวชาววังนั้น นิยมนุ่งห่มด้วยสีตัดกัน ไม่นิยมใช้สีเดียวกัน ทั้งผ้านุ่งและสไบ ดังนี้ 

วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อน ห่มน้ำเงินอ่อน หรือห่มสีบานเย็น นุ่งสีน้ำเงิน นกพิราบ ห่มจำปาแดง (สี ดอกจำปาแก่ๆ) 

วันอังคาร นุ่งสีปูน หรือม่วงเม็ดมะปราง ห่มสีโศก (สีเขียวอ่อนอย่างสี ใบโศกอ่อน) นุ่งสีโศกหรือ เขียวอ่อน ห่มม่วงอ่อน 

วันพุธ นุ่งสีตะกั่ว หรือสีเหล็ก ห่มสีจำปา 

วันพฤหัสบดี นุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนก นุ่งแสด ห่มเขียวอ่อน 

วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินแก่ ห่มเหลือง 

วันเสาร์ นุ่งม่วงเม็ดมะปราง ห่มสีโศก นุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มสีโศก 

วันอาทิตย์ จะแต่งเหมือนวันพฤหัสบดี ก็ได้คือ นุ่งเขียวห่มแดง หรือนุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่ หรือสีเลือดหมู ห่มสีโศก 
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=15&chap=5&page=t15-5-infodetail05.html

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประเภทของผ้าไทย

คุณลักษณะพิเศษของผ้าไทย