ผ้าไหมไทย





ประเภทไหมไทย

          ผ้าไหมไทยนับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีความหลากหลายทั้งรูปแบบ ลวดลาย และสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมในพื้นถิ่น โดยกรรมวิธีทำให้เกิดลวดลายในผ้าไหมไทยแบ่งเป็น ประเภท ได้แก่ ลวดลายจากกรรมวิธีการทอ เช่น จก ยก ขิด ขัด ลวดลายจากกรรมวิธีการเตรียมลวดลายเส้นด้ายก่อนทอ เช่น การมัดหมี่ และลวดลายจากกรรมวิธีการทำลวดลายหลังจากเป็นผืนผ้า เช่น การย้อม การมัดย้อม อย่างไรก็ตามหากเราจำแนกผ้าไหมไทยตามกรรมวิธีเทคนิคการทอสามารถจำแนกได้โดยสังเขป ดังนี้
1. 
การทอขัด
2. 
มัดหมี่
3. 
จก
4. 
ขิด
5. 
ยก
6. 
การควบเส้น

1. การทอขัด

กว่าจะเป็นผ้าไหม_1.การทอขัด
          การทอขัด เป็นวิธีการเบื้องต้นของการทอผ้าทุกชนิด คือมีเส้นพุ่งและเส้นยืนซึ่งอาจเป็นเส้นเดียวกันหรือต่างสีกัน ซึ่งจะทำให้เกิดลวดลายในเนื้อผ้าต่างกัน เช่น การทอเส้นยืนสลับสีก็จะเกิดผ้าลายริ้วทางยาว หรือถ้าทอเส้นพุ่งสลับสีก็จะได้ผ้าลายขวาง การทอเส้นยืนและเส้นพุ่งสลับสีก็จะได้ลายตาราง เป็นต้น ผ้าไหมที่ใช้เทคนิคการทอขัด เรียงตามความหนาของเนื้อผ้า เช่น

2. มัดหมี่

          มัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าที่เกิดจากการมัดเส้นด้ายหรือเส้นไหม ผูกให้เป็นลวดลายเป็นเปลาะๆ แล้วนำไปย้อมสี ลวดลายที่เกิดขึ้นเกิดจากการซึมของสีไปตามส่วนของเส้นไหมหรือเส้นด้ายที่เว้นไว้ไม่ถูกมัดขณะย้อม เมื่อย้อมสีแล้วแกะเชือกออกจะเกิดเป็นลวดลายตามช่องของการมัดส้นเชือก ดังนั้นหากต้องการมัดหมี่หลายสีก็ต้องทำการมัดย้อมสีหรือเรียก โอบหมี่ โดยมัดเส้นเชือกบริเวณส่วนที่ย้อมแล้วเพื่อรักษาสีที่ย้อมครั้งแรกในบริเวณที่ไม่ต้องการย้อมทับสีใหม่ แล้วนำมาย้อมสีทับหลายครั้งเพื่อให้ได้ลวดลายสีสันตามต้องการ ลักษณะเฉพาะของผ้ามัดหมี่อยู่ที่รอยซึมของสีที่วิ่งตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด ถึงแม้จะใช้ความแม่นยำในการทอมากเพียงไรก็จะเกิดลักษณะความเลื่อมล้ำของสีบนเส้นไหมให้เห็นแตกต่างกันไป ดังนั้นการมัดหมี่จึงนับเป็นศิลปะบนผืนผ้าซึ่งยากที่จะลอกเลียนให้เหมือนเดิมได้ในแต่ละผืนผ้า
ลวดลายมัดหมี่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นลวดลายที่มาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ เช่น ลายดอกแก้ว ลายต้นสน ลายนาค ลายใบไผ่ ลายโคมห้า ลายขันหมากเป็น (ลายบายศรีเป็นต้น
การทอผ้าโดยใช้เทคนิคการทอแบบมัดหมี่เพื่อให้เกิดลวดลายบนผืนผ้านั้นมีอยู่เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          เทคนิคการทอผ้าแบบมัดหมี่แบ่งได้เป็น ประเภท คือ
               1. 
มัดหมี่เส้นพุ่ง เป็นมัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายเฉพาะเส้นพุ่งเท่านั้น
               2. 
มัดหมี่เส้นยืน เป็นมัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายเฉพาะเส้นยืนเท่านั้น
               3. 
มัดหมี่ซ้อนหรือมัดหมี่สองทาง เป็นผ้ามัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน
ในประเทศไทยมีการทอผ้ามัดหมี่ทั้ง ประเภทแต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทอมัดหมี่เส้นพุ่ง

3. ขิด

กว่าจะเป็นผ้าไหม_3.ขิด
          การขิดเป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสาน หมายถึง สะกิดหรืองัดช้อนขึ้น ดังนั้นการทอ ผ้าขิดจึงหมายถึงกรรมวิธีการทอที่ผู้ทอใช้ไม้ เรียกว่า ไม้เก็บขิด” สะกิดหรือช้อนเส้นยืนยกขึ้นเป็นช่วงระยะตามลวดลายตลอดหน้าผ้า แล้วพุ่งกระสวยสอดเส้นพุ่งพิเศษและเส้นพุ่งเข้าไปตลอดแนว ทำให้เกิดเป็นลวดลายยกตัวนูนบนผืนผ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายซ้ำๆ ตลอดแนวผ้า โดยสีของลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นสีของด้ายพุ่งพิเศษ
          ผ้าขิดมีการทอในหลายพื้นที่ ลวดลาย สีสัน และการใช้งานแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น กลุ่มชาวภูไท ไทลาว และไทกูยหรือส่วยเขมร ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มไทยวนและไทลื้อ ในภาคกลาง เช่น กลุ่มไทครั่งหรือลาวครั่ง และในภาคใต้ที่บ้านนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง
          ในชาวอีสานโดยทั่วไป นิยมทอผ้าขิดด้วยฝ้ายเพื่อใช้ทำหมอน โดยลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายหอปราสาทหรือธรรมาสน์ ลายพญานาค ลายช้าง ลายม้า ลายดอกแก้ว เป็นต้น ลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้น นิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง
          ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ มีการทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด โดยส่วนใหญ่นิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าฝ้าย

4. จก

กว่าจะเป็นผ้าไหม_4.จก
          จก หมายถึง การควัก ขุด คุ้ย ลักษณะการทอผ้าจกจึงเป็นลักษณะของการทอที่ผู้ทอต้องใช้วิธีล้วงดึงเส้นด้ายพุ่งพิเศษขึ้นลงเพื่อสร้างลวดลายจกเป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าคล้ายการปักด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า โดยใช้ไม้หรือขนเม่น หรือนิ้วมือจกเส้นด้ายเส้นยืนยกหรือจกเส้นดายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดใส่ด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ สลับสีตามต้องการคล้ายกับการปัก
ไปในขณะทอ ซึ่งสามารถออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าได้ซับซ้อนและหลากสีสัน ซึ่งแตกต่างจากผ้าขิดที่มีการใช้เส้นพุ่งพิเศษสีเดียวตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า
          การทำลวดลายในผ้าจกจะแตกต่างกันออกไปตามประโยชน์ใช้สอย โดยการทอจกในประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมทอเป็นตีนซิ่น เพื่อนำไปประกอบกับตัวซิ่นจึงเรียกผ้าที่ทอด้วยเทคนิคจกว่า ผ้าซิ่นตีนจก หรือผ้าเชิงจก จะมีลวดลายที่นิยมอย่างหนึ่งต่างจากลวดลายผ้าจก เพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น หากทอเพื่อกิจกรรมทางศาสนา เช่น ผ้าคลุ่มศีรษะนาค ผ้าห่อคัมภีร์ ธงในงานบุญต่างๆ จะเป็นลวดลายเกี่ยวกับศาสนาหรือสัตว์ในหิมพานต์
          ผ้าจกในแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปทั้งลวดลาย สีสัน และการใช้สอย นอกจากจะทอจกเพื่อตกแต่งผ้าซิ่นแล้ว ยังนิยมทอเป็นหมอน ผ้าห่ม และสไบ

5. ยก

กว่าจะเป็นผ้าไหม_5.ยก
          การทอผ้ายกคือ การเพิ่มลวดลายในเนื้อผ้าให้พิเศษขึ้น โดยใช้เทคนิควิธีเก็บตะกอลอย เช่นเดียวกับขิด โดยยกตะกอเพื่อแยกเส้นด้ายยืนครั้งละกี่เส้นก็ได้ตามลวดลายที่วางไว้แล้ว ให้เส้นด้ายพุ่งผ่านไปเฉพาะเส้น เมื่อทอพุ่งกระสวยไปมาครบคู่ไปกับการยกตะกอจะเกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นจากผืนผ้า เนื่องจากการยกเป็นการเพิ่มลวดลายเข้าไปพิเศษจึงสามารถเลาะลายออกทั้งหมดโดยไม่เสียเนื้อผ้า ถ้าทอยกด้วยไหมจะเรียก ยกไหม ถ้าทอยกด้วยเส้นทองจะเรียก ยกทอง ถ้าทอยกด้วยเส้นเงินจะเรียก ยกเงิน
          ในประเทศไทยมีแหล่งที่ทอผ้ายกหลายภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน มีชื่อเสียงและรู้จักกันในนามผ้ายกดอกเมืองลำพูน เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่รู้จักกันในนามผ้ายกพุมเรียง นครศรีธรรมราช ที่รู้จักกันในนามผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา ที่รู้จักกันในนามผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นต้น

6. การควบเส้น

กว่าจะเป็นผ้าไหม_6.การควบเส้น
          การควบเส้นเป็นวิธีสร้างลวดลายและสีเหลื่อมกันของเส้นใยในผืนผ้า โดยใช้เส้นไหมหรือเส้นใยฝ้ายสองสีที่มีน้ำหนักสีอ่อนแก่แตกต่างกันมาปั่นตีเกลียวรวมเป็นเส้นเดียวกัน โดยสี ที่เป็นเอกลักษณ์ในการควบ คือ สีเหลือง นำมาควบกับสีต่างๆ และนำมาใช้เป็นเส้นพุ่งหรือเส้นยืน ในการทอโดยใช้เทคนิคทอขัดแบบธรรมดา โดยผ้าที่ทอจะเป็นผ้าพื้นสีเหลือบเรียกว่า ผ้าหางกระรอก หรือในภาษาอีสานเรียก ผ้ามับไม หรือ ผ้ากะเนียวในภาษาเขมร มีการทอมาก ในจังหวัดที่มีกลุ่มชนเชื้อสายเขมร เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์
          การทอผ้าควบเส้นใช้วิธีการทอทำให้เกิดลวดลายได้ แบบ ได้แก่
1. 
ลวดลายหางกระรอกที่พุ่งไปด้านขวา เป็นการทอด้วยเส้นใยที่ตีเกลียวด้านขวา
2. 
ลวดลายหางกระรอกที่พุ่งไปด้านซ้าย เป็นการทอด้วยเส้นใยที่ตีเกลียวด้านซ้าย
3. 
ลวดลายหางกระรอกที่มีสายพุ่งเป็นหยักแหลม เป็นการใช้กระสวย อัน พุ่งทอย้อนสลับซ้ายขวา
          เทคนิคการควบเส้นในแต่ละท้องถิ่นมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามภาคของกลุ่มวัฒนธรรม ได้แก่ กลุ่มภูไท และไทลาว เรียกเทคนิคนี้ว่า เข็น  กลุ่มไทกูยเชื้อสายเขมร และชาวส่วย เรียกเป็นภาษาเขมรว่า กะเนียว กลุ่มไทยวนเรียก ปั่นไก กลุ่มไทพวนเรียกมะลังไมหรือมับไม กลุ่มไทภาคกลาง ภาคใต้ และอีสานทั่วไปเรียกว่า หางกระรอก โดยผ้าที่นิยมทอจากเทคนิคการควบเส้น ได้แก่ ผ้าโสร่งตาตาราง ผ้าขาวม้า ผ้าโจงกระเบน ผ้าซิ่นอันลูนเซียม ซิ่นซิ่ว ซิ่นไก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประเภทของผ้าไทย

คุณลักษณะพิเศษของผ้าไทย

ผ้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์